หุ้นกู้ คืออะไร

 

 ลักษณะหุ้นกู้ 


          เมื่อซื้อหุ้นกู้ เราจะมีฐานะเป็น "เจ้าหนี้" ส่วนบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะมีฐานะเป็น "ลูกหนี้" ซึ่งความเป็นเจ้าหนี้ของเราสามารถเป็นได้หลายแบบตามลักษณะของหุ้นกู้ เช่น มีประกันหรือไม่มีประกัน ด้อยสิทธิหรือไม่ด้อยสิทธิ
          ถ้าเป็นหุ้นกู้มีประกัน แสดงว่า หุ้นกู้นี้มีการให้หลักประกันแก่เรา เช่น ที่ดิน อาคาร หากบริษัทมีปัญหา ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นให้เราได้ เราจะมีสิทธิในหลักประกันนั้นเพื่อนำมาชำระหนี้ให้เราก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
          สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หมายถึงมีสิทธิด้อยกว่าเจ้าหนี้รายอื่น แต่ก็ยังสูงกว่าเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น หากบริษัทมีปัญหาหรือล้มละลายขึ้นมา เราในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะได้รับชำระเงินคืนเมื่อเจ้าหนี้รายอื่นซึ่งมีลำดับสิทธิที่เหนือกว่า เช่น ผู้ถือหุ้นกู้มีประกัน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ได้รับชำระหนี้ในส่วนของตัวเองแล้ว
 


ผลตอบแทน/ดอกเบี้ยเป็นเท่าไร

          หุ้นกู้มีการกำหนดผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่จะได้รับเอาไว้ โดยทั่วไปมีรูปแบบการจ่ายดอกเบี้ย 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ
          1. กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอนตายตัวตลอดระยะเวลาของหุ้นกู้ เช่น หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี
          2. กำหนดเป็นแบบขั้นบันได ปกติจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น เช่น หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ 3% ต่อปี ปีที่ 3 เท่ากับ 4% ต่อปี และปีที่ 4-5 เท่ากับ 5% ต่อปี
          อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทของหุ้นกู้ อายุของหุ้นกู้ โดยทั่วไป หุ้นกู้ด้อยสิทธิจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้ที่มีอายุยาวกว่าจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ที่มีอายุสั้นกว่า
          นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดงวดของการจ่ายดอกเบี้ย เช่น จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน โดยดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ค่ะ เช่น อัตราดอกเบี้ย 5.5% ต่อปี เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย จะได้รับดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 4.675% ต่อปี อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีฐานภาษีไม่ถึง 15% สามารถขอคืนภาษีส่วนที่ถูกหักไว้เกินคืนได้ตอนยื่นแบบภาษีเงินได้ประจำปีค่ะ

ระยะเวลาลงทุนนานแค่ไหน
          หุ้นกู้มักมีการกำหนดอายุของหุ้นกู้เอาไว้ เช่น 3 ปี 5 ปี 10 ปี เป็นต้น เมื่อครบกำหนดบริษัทจะคืนเงินต้นให้เรา เราจึงควรลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุสอดคล้องกับระยะเวลาลงทุนที่ต้องการ ทั้งนี้ มีหุ้นกู้ประเภทที่กำหนดเงื่อนไข "ไถ่ถอนก่อนกำหนดได้" ซึ่งมี 2 กรณี
          กรณีที่ 1 บริษัทสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด หรือการที่ผู้กู้ขอคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนด และกรณีที่ 2 ผู้ถือหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด หรือการที่ผู้ให้กู้ขอเงินกู้คืนก่อนครบกำหนด ซึ่งเรามักจะเห็นแบบแรกมากกว่าแบบที่สองค่ะ
          เช่น หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 5.5% ต่อปี ซึ่งบริษัทมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป ถ้าบริษัทใช้สิทธิไถ่ถอนเสมือนเป็นการยกเลิกหุ้นกู้ตัวนั้น บริษัทจะคืนเงินต้นให้กับผู้ลงทุน ซึ่งหุ้นกู้ที่บริษัทสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้นี้มักให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นกู้ที่ไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อชดเชยความเสี่ยงของการถูกไถ่ถอนก่อนกำหนด



บริษัทน่าเชื่อถือหรือไม่

         
การซื้อหุ้นกู้คือการให้บริษัทกู้ยืมเงิน ดังนั้น ก่อนซื้อหุ้นกู้จึงต้องดูให้แน่ใจก่อนว่า บริษัทมีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน ฐานะการเงินเป็นอย่างไร เพราะสะท้อนว่าบริษัทมีเงินจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้เราได้หรือไม่ ซึ่งเราสามารถดูได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่จัดทำโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency)
          
อันดับความน่าเชื่อถือนี้จะใช้สัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ 4 ตัวคือ A B C และ D โดยอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดเท่ากับ AAA และในแต่ละขั้นยังมีการย่อยเป็นบวกและลบ เช่น AA+ A- BBB+ เป็นต้น ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB- ขึ้นไปถึง AAA จัดเป็นหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับน่าลงทุน
          ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือที่ต่ำกว่า BBB- ถือเป็นหุ้นกู้ที่ควรระมัดระวังในการลงทุน โดยทั่วไปหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือสูง เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การซื้อหุ้นกู้ไม่ควรดูแค่อัตราดอกเบี้ยสูง ๆ เท่านั้น แต่ควรดูอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทด้วย    

ใครบ้างที่ลงทุนได้

          การเสนอขายหุ้นกู้ในบ้านเรามี 2 แบบ แบบที่ 1 Public Offering เป็นการขายให้บุคคลทั่วไป ไม่มีข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติหรือรายได้ และแบบที่ 2 Private Placement เสนอขายเฉพาะเจาะจงให้แก่นักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่จะต้องมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
          1. มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ไม่รวมที่พักอาศัย

         2. มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป

         3.มีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป

 

ความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

   แยกความรับผิดได้ 3 ประเภท คือ คดีละเมิด , คดีผิดสัญญา , คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

 คดีละเมิด  ลักษณะการดำเนินคดี     

- ผู้เสียหายเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่กระทำโดยผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ บุคคลอื่นโดยใจ หรือประมาทเลินเล่อ

- กรณีมีผู้ที่กระทำความผิดฐานใช้ข้อมูลภายใน ฐานสร้างราคาหลักทรัพย์และฐานกระทำทุจริตหรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ อายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด

คดีผิดสัญญา ลักษณะการดำเนินคดี

          - ผู้เสียหายเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญา หรือไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ซึ่งจะมีทั้งบริษัทที่ออกหุ้นกู้ ตลอดทั้งผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) อายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ หรือวันครบกำหนด

 

คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์      ลักษณะการดำเนินคดี     

- ผู้เสียหายเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะ กล่าวคือ.-

- ผู้แทนถือหุ้นกู้/ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตน

- การซื้อหลักทรัพย์จากผู้ยื่น Filing เท็จ หรือซื้อหน่วยลงทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่จัดทำหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนเท็จ

- การซื้อหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ เช่น งบการเงินของบริษัท

- คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เพิกถอนการเป็นหลักทรัพย์จด ทะเบียนอายุความ      เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น   

          * สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการอาศัยข้อมูลจากผู้ยื่นFilingเท็จ มีอายุความ 1 ปี นับจากวันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเอกสารนั้นมีข้อความเท็จ แต่ไม่เกิน 2 ปี นับแต่เอกสารดังกล่าวมีผลใช้บังคับ 

          * สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการซื้อขายหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงข้อความเท็จแต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่มีการกระทำนั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Visitors: 58,715